ในช่วงที่เศรษฐกิจขาลง ใครๆก็อยากได้เงินทุนไปประคับประคองธุรกิจให้อยู่ได้ ถ้ามีที่ดินซักแปลงนึงแล้วอยากได้เงินทุนไปหมุนธุรกิจ ในวงการอสังหาฯนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าก็มี 2 วิธี คือการขายฝาก กับ การจำนอง ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาทำความเข้าใจว่า ขายฝาก กับ จำนองคืออะไร และจะทำแบบไหนดี
การขายฝาก คือการทำนิติกรรมซื้อขายอสังหาฯแบบหนึ่งซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที แต่ทั้งนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ขายฝากนั้น สามารถนำเงินมาไถ่ถอนทรัพย์สินของตนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มีเงินมาไถ่ถอนภายในเวลาที่กำหนด ก็สามารถมาขยายเวลาขายฝากได้ กี่ครั้งก็ได้ แต่ระยะเวลาทั้งหมดต้องไม่เกิน 10 ปี ซึ่งถ้าถึงเวลาแล้วไม่มีการมาไถ่ถอนหรือขยายเวลา ทรัพย์สินนั้นก็จะตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที
การจำนอง คือการทำนิติกรรมสัญญารูปแบบหนึ่ง ที่ผู้จำนองนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนอง โดยที่ทรัพย์นั้นยังไม่ได้ตกเป็นทรัพย์สินของผู้รับจำนองในทันที ถ้าผู้จำนองผิดสัญญาไม่มาชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ก็จะต้องมีการฟ้องศาลเพื่อบังคับจำนอง แล้วให้กองบังคับคดีประมูลขาย เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งในระหว่างที่โดนฟ้องบังคับจำนองนั้นจะไม่สามารถนำทรัพย์นั้นมาขายเองได้
- ในมุมของผู้ขายฝาก จะมีโอกาสที่จะได้รับวงเงินที่สูงกว่าการจำนอง แต่ก็แลกกับการที่จะไม่สามารถใช้ประโยชน์บนทรัพย์นั้นได้จนกว่าจะไถ่คืน
- ส่วนมุมของผู้รับซื้อฝาก ก็จะได้ดอกเบี้ยและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นได้เลย
- ในมุมของผู้จำนอง ได้เงินทุนไปใช้และยังสามารถใช้ประโยชน์ใช้สอยกับทรัพย์ที่นำไปจำนองได้ แต่วงเงินที่ได้รับก็จะน้อยกว่าการขายฝาก
- ในมุมของผู้รับจำนอง ก็จะได้ดอกเบี้ยแต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรบนทรัพย์นั้นได้ ต้องเสียเวลาในการฟ้องร้องอีกพอสมควร แต่ก็ป้องกันได้ด้วยการให้วงเงินรับจำนองที่ไม่สูงมากเกินไป
* ทั้งการขายฝากและจำนอง ดอกเบี้ยตามที่กฏหมายกำหนดก็คือ ไม่เกิน 15% ต่อปี
การขายฝาก หรือ จดจำนอง ต้องดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่กรมที่ดินเท่านั้นนะครับ โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้ - การขายฝาก จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน และต้องเสียภาษีอากรด้วย - การจดจำนอง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน 1% ของวงเงินจดจำนอง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท